ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมมือกับ สกว. จัดแสดงงานวิจัยภูมิปัญญาวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังเผยแพร่และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย ชี้อาหารแต่ละจานเชื่อมโยงสู่มิติต่างๆ ต่อยอดสู่การพัฒนาท้องถิ่นได้
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า วันที่ 15 มิถุนายน 2559 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแสดงงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาภูมิปัญญาวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยคัดเลือกอาหารท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความโดดเด่น แสดงออกถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อต่อยอดสู่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย
“จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแหล่งอารยธรรมของ วัฒนธรรมศรีวิชัยมาแต่โบราณ อาหารการกินก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อาหารพื้นบ้านหลายอย่างของสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อาทิ ไข่เค็มไชยา ผัดไทยไชยา หอยนางรมทรงเครื่อง กะละแม ข้าวยำเครื่องสมุนไพร ฯลฯ ในขณะที่ของกินบางชนิดก็ใกล้สูญหายแล้ว เช่น ขนมกรุบ ขนมจั้ง เหนียวกวน หากไม่มีการอนุรักษ์ส่งเสริมหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาหารท้องถิ่นเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สาบสูญได้” อธิการบดี มรส.กล่าว
ผศ.อภิชาติ พัฒนวิริยะพิศาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. กล่าวว่า อาหารการกินแต่ละอย่างสามารถศึกษาหาความเชื่อมโยงไปสู่มิติต่างๆ ได้ เช่น มิติของวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์และบริบทของพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นจึงได้แยกประเภทของอาหารไว้เป็น 4 กลุ่มตามลักษณะทางภูมิประเทศและวัฒนธรรมการบริโภค ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ราบลุ่ม เช่น อ.ไชยา อ.พุนพิน อาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ ปลาเปรี้ยว ขนมจาก ยำใบไม้ กลุ่มที่ 2 กลุ่มบ้านสวน เช่น อ.เวียงสระ อ.บ้านนาสาร อาหารได้แก่ แกงขี้เหล็ก ผัดไทย ขนมปู๊ดหลู๊ด กลุ่มที่ 3 กลุ่มชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง เช่น อ.เกาะสมุย อ.เกาะพะงัน อาหารได้แก่ วายคั่ว ยำสาหร่ายข้อ น้ำชุบมุงมัง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มขุนเขาและสายน้ำ เช่น อ.วิภาวดี อ.เคียนซา อาหารได้แก่ แกงไตปลา สะตอผัดเคย เห็ดแครงปิ้ง
“เมื่ออาหารการกินสามารถอธิบายบริบทต่างๆ ของท้องถิ่นได้ ก็ย่อมสามารถประยุกต์ไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นได้เช่นกัน มหาวิทยาลัยจึงได้รวบรวมและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลภูมิปัญญาวัฒนธรรมอาหารท้อง ถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์http://www.suratfoodculture.sru.ac.th/ เพื่อให้ชาวสุราษฎร์ธานี คนรุ่นใหม่และผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดในการศึกษาและการพัฒนา ได้” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าว