ภาษาไทย การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีในอาหารเป็ดไข่ ที่มีผลต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่
ภาษาอังกฤษ Research and Technology Transfer of the Use of Wheat Bran for Laying Ducks Ration On Growth Performance and Egg Quality
ข้อมูลผู้เขียนหลัก
ผศ. โสภณ บุญล้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
เลขที่ 272 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทรศัพท์มือถือ 081-0872300
ระยะเวลาเริ่มต้นและปีที่สิ้นสุดโครงการ
ระยะเวลาเริ่มต้น วันที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ปีที่สิ้นสุดโครงการ วันที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
คำสำคัญ
ภาษาไทย การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี รำข้าวสาลี อาหารเป็ดไข่สมรรถภาพการผลิต และคุณภาพไข่
ภาษาอังกฤษ Research and Technology Transfer, Wheat Bran, Laying Ducks Ration, Growth Performance and Egg Quality
เนื้อหา
1. วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีในอาหารเป็ดไข่ที่มีผลต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของรำข้าวสาลีที่ใช้ผสมในสูตรอาหารเลี้ยงเป็ดไข่เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด
- เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโต สมรรถภาพการผลิตไข่ คุณภาพไข่ และต้นทุนการเลี้ยงเป็ดไข่ด้วยการใช้รำข้าวสาลีผสมในสูตรอาหาร
- เพื่อศึกษารวบรวมกรรมวิธีการผลิตไข่เค็มไชยาตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดทำกรรมวิธีการผลิตมาตรฐาน
- เพื่อถ่ายทอดผลการวิจัยและทักษะต่างๆ สู่เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไข่ รวมถึงผู้ประกอบการผลิตไข่เค็มไชยา เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่
3. ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือวิธีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ (คน ความรู้ วัสดุ และงบประมาณ)
การบริการวิชาการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีที่ใช้ผสมในสูตรอาหารเลี้ยงเป็ดไข่เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด โดยมุ่งเน้นการนำรำข้าวสาลีซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตแป้งข้าวสาลีในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งหาได้ง่าย ราคาถูก มาใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรอาหารเลี้ยงเป็ดไข่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตไข่เค็มไชยาบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้มีคุณภาพดีและยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่
4. ความเกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน การวิจัย หรือการบริการวิชาการ
มีการบูรณาการงานวิจัยเรื่องการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีในอาหารเป็ดไข่ที่มีผลต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่กับกระบวนการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการผลิตเป็ดไข่และวิชาอาหารและการให้อาหารสัตว์ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบันฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์ รวมถึงให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยตลอดการทดลอง และมีการการบูรณาการงานวิจัยกับงานบริการวิชาการแก่สังคมโดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำผลการวิจัยและทักษะต่างๆ สู่เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไข่และผลิตไข่เค็มไชยาจำนวน 30 ราย ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดตั้งฟาร์มตัวอย่าง นอกจากนี้ได้นำความรู้จากงานวิจัยเรื่องภูมิปัญญาการเลี้ยงเป็ดไข่และกรรมวิธีในการผลิตไข่เค็มไชยา มาบูรณาการกับงานทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยจัดกิจกรรมฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา เผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมการผลิตไข่เค็มไชยาและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นรากฐานการพัฒนาองค์ความรู้ที่ดีขึ้น มีการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการบูรณาการ และนำผลการประเมินไปปรับปรุงพันธกิจด้านการวิจัย การพัฒนาการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่ชุมชน การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
5. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Mutual benefits) เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปสู่ผลงานวิชาการ (Knowledge sharing and scholarship)
- เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไข่และผลิตไข่เค็ม ได้สูตรอาหารต้นทุนต่ำสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่ที่เหมาะสมโดยกลุ่มเกษตรกรสามารถผสมอาหารเป็ดไข่ใช้ได้เอง โดยเน้นการนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ซึ่งหาได้ง่ายและราคาถูก ส่งผลให้ลดต้นทุนค่าอาหารเป็ดไข่ลง พร้อมเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และได้ทราบกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมในกระบวนการผลิตไข่เค็มไชยาและช่วยอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมด้านอาหารพื้นเมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- โรงเรียนไชยาวิทยาคมและโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยาได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยและงานบริการวิชาการสู่สังคมไปสร้างหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง การเลี้ยงเป็ดไข่และผลิตไข่เค็ม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการปศุสัตว์แห่งชาติ วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2556 อาคารอิมเพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และได้นำผลงานวิจัยไปสาธิตในงาน Thailand Research Expo 2012
- องค์การบริหารส่วนตำบลเลม็ด สำนักพัฒนาชุมชน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด นำข้อมูลไปวางแผน เพื่อกำหนดนโยบายยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ไข่เค็มไชยาโครงการอาหารปลอดภัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์จังหวัดปี 2557 และร่วมผลักดันให้รับรองแหล่งผลิตสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไข่เค็มไชยา เพื่อคุ้มครองสิทธิเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่และผู้ผลิตไข่เค็มในอำเภอไชยา รวมถึงคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไข่เค็มไชยาด้วย จึงนำไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดและผลิตไข่เค็มไชยา จำกัดขึ้น เพื่อการตรวจรับรองคุณภาพจากหน่วยราชการ
- เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการวิจัยได้เรียนรู้ทักษะการใช้เครื่องมือพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น พัดวัดสีไข่แดง เครื่องวัดความหนาของเปลือกไข่ เป็นต้น โดยเกษตรกรได้ทดลองใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลในพื้นที่และได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต
6. ความต่อเนื่องของงานหลังจากโครงการสิ้นสุดแล้ว หรือการขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ หรือสาขาวิชาการอื่นๆ
- การจัดตั้งฟาร์มตัวอย่าง ที่บ้านนางประสงค์ หีตอนันต์ เพื่อขยายผลการวิจัยในเรื่องการใช้รำข้าวสาลีร้อยละ 5 ในสูตรอาหารเลี้ยงเป็ดไข่ระยะไข่อายุ 22-48 สัปดาห์ พร้อมเก็บข้อมูลสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่ และเป็นจุดสาธิตการผลิตไข่เค็มให้ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยให้เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมมาฝึกปฏิบัติและเป็นเวทีเพื่อพัฒนาความรู้ร่วมทำให้เกิดการกระจายความรู้ไปยังชุมชนอื่นๆ พัฒนาความเชื่อมโยงด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างชุมชนภายในเครือข่าย และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ
- เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกรเลี้ยงเป็ดไข่ หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการนำผลการวิจัยและทักษะต่างๆ ไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนการผลิต มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาดูงานและเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไข่เค็มไชยาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ
7. ผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Measurable social impact)
- ด้านเศรษฐกิจ งานวิชาการเพื่อสังคมนี้สามารถสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่อย่างน้อยที่สุดมูลค่าที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตเป็ดไข่ได้เป็นอย่างมาก หากพิจารณาโดยประมาณจากผู้เลี้ยงเป็ดไข่จำนวน 1 ราย ที่มีเป็ดไข่ 50 ตัว ผลผลิตไข่ร้อยละ 70 ต่อวัน สามารถลดต้นการทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 10,000 บาท ช่วยกระจายโอกาสการมีงานทำและเพิ่มพูนรายได้ เพิ่มความสำคัญต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในฐานะแหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ด้านสังคม งานบริการวิชาการแก่สังคมนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดในชุมชน เกษตรกรจากนอกชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาได้เป็นอย่างดี เกษตรกรได้รับการเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การควบคุมให้สีไข่แดงเป็นไปตามกำหนด ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกวัตถุดิบที่สามารถนำมาผสมเป็นอาหารเป็ดได้ เป็นต้น ชุมชนเกิดคลังความรู้จากกระบวนการจัดการความรู้อีกทั้งโครงการนี้มีการเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนของนักศึกษา ได้แก่ การทำปัญหาพิเศษก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางวิชาการในท้องถิ่นกับชุมชน นอกจากนี้ผลทางวิชาการที่ได้รับจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสินค้าของท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไข่เค็มไชยาในอนาคตได้ด้วย
8. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม เช่น รายงานวิจัย บทความ เว็บไซต์
โสภณ บุญล้ำ กมลพรรณ เจือกโว้น และ จุฑามาศ กระจ่างศรี. (2556). กรรมวิธีมาตรฐานการผลิตไข่เค็มไชยา. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
โสภณ บุญล้ำ กมลพรรณ เจือกโว้น และ จุฑามาศ กระจ่างศรี. (2557). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีในอาหารเป็ดไข่. วิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ , 5-16.
โสภณ บุญล้ำ กมลพรรณ เจือกโว้น และ จุฑามาศ กระจ่างศรี. (2556). คู่มือการเลี้ยงเป็ดไข่. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
โสภณ บุญล้ำ กมลพรรณ เจือกโว้น และ จุฑามาศ กระจ่างศรี . (2556). โครงการการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รำข้าวสาลีในอาหารเป็ดไข่ที่มีผลต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).