ชื่อโครงการ  :

สืบสานปณิธานธรรมชุมชนบ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี "กิจกรรมตามรอยท่านพุทธทาส : ตักบาตรวัดตระพังจิก"

(The Determination of Dharma on " The Trail Buddhadasa : Give offerings to Monks at Trapangjik Temple " in Phumriang Village Chaiya,Suratthani)

ข้อมูลผู้เขียนหลัก

          ชื่อ นายอนุรัตน์  นามสกุล แพนสกุล  ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ
          สถานที่ติดต่อ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 โทรศัพท์ 077– 913355

ระยะเวลาที่เริ่มต้นโครงการ

          วันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ปัจจุบันโครงการยังดำเนินงานอยู่

คำสำคัญ

          พุทธทาส ภิกขุ, ปณิธานธรรม, ตักบาตร, บ้านพุมเรียง, วัดตระพังจิก, Buddhadasa Bhikkhu, Dharma Aspiration, Give Alms, Pumrieng Community, Trapangjik Temple

ความเป็นมาของโครงการ 

      พุทธศาสนา เป็นรากฐานของวัฒนธรรม เนื่องจากสังคมไทยมีหลักปฏิบัติและวิถีชีวิตอยู่บนหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน หลักธรรม  คำสอนและความเชื่อตลอดจนแนวปฏิบัติตนตามหลักศาสนาได้ซึมซาบอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทยทุกคน จึงกล่าวได้ว่าสังคมไทยทุกระดับได้รับเอาความเชื่อทางศาสนามาเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตจนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา

          "พุมเรียง" เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยรุ่งเรืองราว 2,000 ปีก่อน เนื่องจากมีพื้นที่ติดชายทะเลอ่าวไทย อันมีชุมชนแหลมโพธิ์เป็นชุมชนท่าเรือที่เป็นเส้นทางค้าขายเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่มาติดต่อค้าขายกับชุมชนแห่งนี้ ชาติที่สำคัญ คือ อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย และจีน ในอดีตพุมเรียงเป็นเมืองประมงที่มีความสำคัญยิ่งของเมืองไชยา ด้วยว่าเคยเป็นแหล่งจอดเรือสินค้าข้ามสมุทรมาแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมพุมเรียงที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกพลมาประทับก่อนยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อรวบรวมไพร่พลไปกู้กรุงศรีอยุธยา กอปรกับการที่พุมเรียงเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดของปราชญ์โลกอย่างท่านพุทธทาส บุคคลสำคัญของโลกที่องค์การยูเนสโกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าท่านพุทธทาสจะมีความสำคัญกับชาวชุมชนพุมเรียงและชาวอำเภอไชยาอย่างกว้างขวาง แต่กิจกรรมที่ดำเนินงานเกี่ยวกับท่านพุทธทาสที่เคลื่อนไหวในพื้นที่นั้นน้อยมาก ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น พระภิกษุสงฆ์ ต่างบอกกล่าวเป็นเสียงเดียวกันมา อยากให้มหาวิทยาลัยดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับท่านพุทธทาสในพื้นที่ตำบลพุมเรียง เนื่องจากเล็งเห็นว่า แม้อำเภอไชยาจะมีสวนโมกขพลาที่ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่สายเอเชีย 401 เป็นแหล่งรวบรวมงานและจัดกิจกรรมวันล้ออายุท่านพุทธทาสอยู่ทุกปีแล้ว แต่ในฐานะที่ชุมชนพุมเรียงเป็นชุมชนบ้านเกิดท่านพุทธทาส และมีวัดตระพังจิกเป็นวัดที่ท่านพุทธทาสปฏิบัติธรรมแห่งแรกในชุมชนนี้ การสืบสานปณิธานธรรมของท่านจึงเป็นเรื่องที่ชุมชนแห่งนี้มีความต้องการ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า "มหาวิทยาลัยต้นแบบแห่งภูมิภาค เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" มีพันธกิจที่สำคัญ 7  พันธกิจ ใน 2 ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สร้างความรู้ ความเข้าใจในคุณค่า ความสำนึกและความภูมิภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์เผยแพร่และสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผู้นำชุมชน ศาสนาและนักการเมืองท้องถิ่น ให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรมและความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

          สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) เทศบาลตำบลพุมเรียง และชาวชุมชนบ้านพุมเรียง จัดกิจกรรมการเดินบาตร และจัดเวทีธรรมสากัจฉา ในทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของทุกเดือน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่าย สานต่อโครงการตามรอยท่านพุทธทาส ซึ่งชุมชนพุมเรียงเป็นทั้งบ้านเกิดท่านพุทธทาส และเป็นสถานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงอาคารเรียนท่านพุทธทาส เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนในชุมชนบ้านพุมเรียงได้มีกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานโดยจัดกิจกรรมเดินบาตรทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของทุกเดือน

วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อจัดกิจกรรมตักบาตรตามรอยท่านพุทธทาส โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่าย และสานต่อโครงการตามรอยท่านพุทธทาสในชุมชนพุมเรียงซึ่งเป็นบ้านเกิดท่านพุทธทาส

กระบวนการหรือวิธีการร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วน (partnership) กับภาคีต่าง ๆ ในการเตรียมการ การตัดสินใจ และการดำเนินงานกระบวนการวิธี

          กระบวนการดำเนินการโครงการยึดหลักการดำเนินงานภายใต้ "การมีส่วนร่วมแบบหุ้นส่วน" โดยมีวงจรคุณภาพ PDCA มาใช้ในกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ประกอบด้วย P คือ การวางแผน (Plan) การทำงาน, D คือ การลงมือทำ (Do) , C คือ การตรวจสอบ งาน (Check) และ A คือ การปรับปรุงแก้ไขงานให้ดีขึ้น (Act) ในกระบวนการวางแผน (Plan) การทำงานเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ สภาพชุมชน สถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักของชุมชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ได้แก่ ชาวตำบลพุมเรียง ตำบลเลม็ด ตำบลตลาดไชยา เพื่อทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่บุคคล ผู้คนในชุมชนเพื่อให้เกิดความไว้วางใจนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกัน วิธีการดำเนินการในขั้นนี้ใช้การพูดคุยแบบไม่มีโครงสร้าง ต่อมาค้นหาผู้รู้ แกนนำ และสร้างความสัมพันธ์กับแกนนำโดย แกนนำที่ว่านี้จะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่จะทำโครงการเป็นอย่างดี เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างเจ้าของโครงการและชุมชน นำผลที่ได้จากขั้นตอนนี้มาวางแผนดำเนินการ โดยการระดมความคิดจากคณะกรรมการประจำสำนัก วางแผนกิจกรรม และมอบหมายงานให้แต่ละส่วนรับผิดชอบ ในขั้นตอน การลงมือทำ (Do) มีการสรุปภาระงานของแต่ละฝ่ายอีกครั้ง สำนักงานฯ มีหน้าที่ประสานงานให้ทุกฝ่ายปฏิบัติงานไปโดยอย่างราบรื่น และเป็นส่วนกลางที่จัดการด้านเอกสาร ได้แก่ การจัดประชุม การทำหนังสือ การขอสนับสนุนยานพาหนะ การประสานกับชุมชนท้องถิ่น ในขั้นการตรวจสอบงาน (Check) มีการตรวจสอบโดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจในการจัดกิจกรรม ตรวจสอบว่างานแต่ละอย่างบรรลุตามจุดประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ ผู้ดำเนินงานต้องทบทวนความผิดพลาดหาจุดบกพร่องเพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข สำหรับในขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขงานให้ดีขึ้น (Act) ในขั้นตอนนี้นับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งปัจจุบัน นับได้ประมาณ 24 ครั้ง เมื่อการดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นในแต่ละครั้งจะมีการสรุปผลการดำเนินกิจกรรม และนำผลดังกล่าวมาปรับปรุงในครั้งต่อไปอย่างสม่ำเสมอ พบว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข คือ การจัดกิจกรรมจัดเป็นช่วงเวลาเช้าตรู่ทำให้ผู้เข้าร่วมที่มาจากต่างอำเภอมักจะเดินทางมาล่าช้า แก้ไขโดยการกระตุ้นโดยทำหนังสือบันทึก และโทรศัพท์ติดตามก่อนการจัดกิจกรรมล่วงหน้า 1 วัน

          ในการดำเนินกิจกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากเทศบาลตำบลพุมเรียง พระจากวัด ธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร วัดโพธาราม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านพุมเรียง ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ จัดสถานที่ และชาวชุมชนบ้านพุมเรียง และบริเวณใกล้เคียง รวมถึงโรงเรียนวัดพุมเรียง โรงเรียนพุทธนิคมฝ่ายประถม และโรงเรียนมัธยมพุทธนิคมที่ให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมเดินบาตร ในการจัดเตรียมอาหารและอุปกรณ์สำหรับถวายภัตตาหารเช้า ซึ่งกิจกรรมเดินบาตรจะเริ่มตั้งแต่เวลา 07: 00 - 08 : 00 น. เริ่มเดินบาตรจากหน้าโรงเรียนวัดโพธาราม - สามแยกตามาโนชย์ 08 : 30 - 09 : 30 น. ฉันเช้าที่วัดตระพังจิก 09 : 30 - 10 : 30 น. ฟังธรรมเวทีธรรมสากัจฉาโดยคณะพระอาจารย์จากสวนโมกขพลาราม

ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือวิธีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์

          ในการดำเนินกิจกรรมโครงการได้นำแนวคิดการนำเอาทุนทางสังคมที่ชุมชนมีอยู่มาเป็นฐานในการพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทุนที่สำคัญของชุมชนพุมเรียงที่มีอยู่อย่างมั่นคงคือ ทุนทางศาสนา อันหมายถึง หลักคำสอนท่านพุทธทาสปณิธาน 3 ของท่านพุทธทาสภิกขุ ประกอบด้วย 1) ให้ศาสนิกเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน 2) การทำความเข้าใจระหว่างศาสนาและ 3) ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม ซึ่งปณิธาน 3 ข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้อุทิศเวลาทั้งชีวิตเพื่อให้บรรลุปณิธานทั้ง 3 ข้อ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยในการดำเนินงานด้านพุทธทาสศึกษา โดยหนึ่งในพันธกิจ คือ การดำเนินงานด้านพุทธทาสศึกษาอีกทั้งสำนักฯ ยังมีที่ทำการอยู่ในอาคารหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ซึ่งหมายถึงเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับเผยแพร่ธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส สำนักฯ จึงเห็นความจำเป็นในการจัดโครงการนี้ด้วยการจัดกิจกรรมตามรอยท่านพุทธทาสเพื่อเผยแพร่ผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และบุคคลที่สนใจทั่วไป เพื่อให้ได้เข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนาโดยผ่านท่านพุทธทาสภิกขุในฐานะที่เป็นบุคลาธิษฐาน

ความเกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน การวิจัย หรือการบูรณาการวิชาการ

          เกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการบูรณาการวิชาการ และการบูรณาการการเรียนการสอนวิชาพุทธทาสศึกษา

ประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (measurable social impact)

          ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้เข้ามาจัดกิจกรรมตักบาตรที่วัดตระพังจิก ชาวบ้านบางส่วนที่เคยใช้สถานที่วัดทำกิจกรรมก็หวนกลับมาที่วัดแห่งนี้อีกครั้ง ผลจากการรวบรวมแบบสอบถามการประเมินผลของการจัดกิจกรรม พบว่า การเข้าร่วมและความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีมากขึ้นจากการจัดกิจกรรมวันแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ซึ่งมีเฉพาะนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางส่วนประมาณ 50 คน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบันเมษายน 2558 รวมทั้งสิ้น  24 ครั้ง มีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตรจำนวนมากบางครั้งมากกว่า 100 คน ที่เข้าร่วมการฟังธรรมที่วัดตระพังจิกหลังจากพระเดินบาตรเสร็จ จำนวนนี้ไม่รวมถึงชาวบ้านที่ตักบาตรตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเส้นทางการเดินบาตร

          สิ่งที่เป็นแรงผลักดันจากปัจจัยภายในเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต่อกิจกรรมที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจัดขึ้น คือ ความเป็นท่านพุทธทาสที่ผูกร้อยผู้คนชาวพุมเรียง และชาวอำเภอไชยา รวมทั้งชาวบ้านจากท้องถิ่นอื่นเอาไว้แน่นหนา หลักคำสอนของท่านส่งผลกระทบต่อสังคมหลายด้าน ทั้งด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยมีผลกระทบต่อด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนธรรม ด้านศาสนวัตถุ และด้านศาสนพิธี ผลกระทบด้านการศึกษามีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่นำหลักคำสอนของท่านกลับเข้าสู่สถาบันการศึกษาให้ได้เรียนรู้ประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง

          ในส่วนแรงผลักภายนอกที่ทำให้การจัดกิจกรรมสัมฤทธิผล คือ แกนนำในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์ ที่เป็นผู้ประสานงาน และประชาสัมพันธ์การเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ คุณวีระ จัดแจง คนสนิทท่านพระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร พระธีรศักดิ์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดตระพังจิก ผู้ใหญ่วัชระ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลพุมเรียง คุณครูตุ้ย ครูโรงเรียนวัดพุมเรียง นายกรวิช  ผ่องฉวี มัคคุเทศก์ชุมชน คุณยายเมี้ยน ประชาสัมพันธ์ชุมชนพุมเรียง คุณลุงนารถ กรรมการสวนโมกขพลาราม นายกยอดชาย พันธ์ครุฑ นายกเทศมนตรีตำบลพุมเรียง นายศักฐ์ธนัช จันศ์โสฬส สมาชิกสภาเทศบาลเขต 2 ตำบลพุมเรียง คุณณรงค์ เสมียนเพชร ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอไชยา เหล่านี้เป็นต้น

          สำหรับการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่นอกเหนือจากกิจกรรมเดินบาตรแล้ว อาทิ การนำอาหารมาถวายเพล การจัดสถานที่ การถวายเงินทำบุญ และกิจกรรมทอดผ้าป่าที่เพิ่งผ่านพ้นไป สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันว่าทุกคนต่างประสงค์ที่จะรื้อรากวัฒนธรรมศาสนาที่เกี่ยวกับท่านพุทธทาสให้กลับมาดังเดิม ฟื้นฟูสวนโมกข์แห่งแรกที่เคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง อันเป็นวิถีวัตรที่ท่านพุทธทาสปฏิบัติอยู่เป็นนิจในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มุ่งสู่การหลุดพ้น เป็นการสืบสานปณิธานธรรมที่แท้จริง

 

 

Free Joomla Lightbox Gallery