มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ดำเนินงาน โครงการสนับสนุนวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการแผนสุขภาวะชุมชนให้มี “กลไกการบริหารจัดการที่เรียกว่า “กลไกสนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย” ในการทำหน้าที่สนับสนุนวิชาการและการจัดการเครือข่ายของกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้เพื่อพัฒนางานวิชาการที่คำนึงถึงการค้นหาและนำใช้ทุนทางสังคม และศักยภาพของพื้นที่เป็นหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแผน และสานสามพลัง (พลังความรู้ พลังสังคม พลังนโยบาย) โดยมีบทบาทหน้าที่พัฒนาข้อเสนอโครงการภายใต้แผนสุขภาวะชุมชน ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่ สสส. กำหนด และในกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างมั่นใจได้ว่าสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมถึงการนิเทศ กำกับ และติดตามการดำเนินงาน
1) จัดการฝึกอบรมหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการการนำใช้เครื่องมือในการประเมินศักยภาพและทุนของพื้นที่ หรือการใช้เครื่องมือการพัฒนาระบบข้อมูลตำบล และประมวลเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาไปสู่ตำบลน่าอยู่หรือจังหวัดน่าอยู่ที่พร้อมและมีกลไกในการทำหน้าที่เป็นฐานในการบูรณาการการพัฒนาสุขภาวะเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็น
2) ร่วมพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ (หลักสูตร) และทดลองนำใช้ในพื้นที่ รวมถึงการร่วมพัฒนาแนวทางการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ร่วมกันของแกนนำและสมาชิกในพื้นที่และของเครือข่าย
3) ร่วมพัฒนาระบบข้อมูลระดับตำบลและพัฒนาศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาระบบข้อมูลตำบล รวมถึงความสามารถของผู้เกี่ยวข้องในการนำใช้ข้อมูลในทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่จนเกิดเป็นวัฒนธรรมในการทำงานทั้งระดับบุคคล กลุ่ม และองค์กร
4) เสริมสร้างศักยภาพและทักษะของกำลังคนในพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการระจำ นักวิชาการชุมชนท้องถิ่น นักจัดการ นักจัดการข้อมูล และนักสื่อสารชุมชน ให้มีความสามารถในการทำงานร่วมกันและบูรณาการการดำเนินงานของโครงการเข้าสู่โครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรในพื้นที่
5) วิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการดำเนินงานของโครงการเพื่อบ่งบอกผลผลิตและผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการให้ทุนเสนอต่อสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนในการนำใช้ในการประเมินผลงานประกอบการเบิกเงินรายงวด
6) ประมวลข้อมูลนวัตกรรมการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในระดับพื้นที่และเครือข่าย และจัดทำเป็นข้อเสนอในการขยายผลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ รวมถึงอำนวยความสะดวกและสนับสนุนวิชาการให้กับภาคีอื่นๆ ที่ต้องการขยายผลจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดการความรู้ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของเครือข่าย เป็นกระบวนการในการสร้างความเชื่อมั่นในการนำใช้ชุดความรู้จากการปฏิบัติ และเป็นการยกระดับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้
7) ออกแบบกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะร่วมของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และผลักดันให้มีการนำสู่ปฏิบัติการของท้องถิ่นและขยายในเครือข่าย รวมถึงเชื่อมโยงกับขบวนการของเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ
8) จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อการมีสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีการตกลงร่วมกันของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
9) ประสานงานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับแผนอื่นๆ และภาคียุทธศาสตร์
10) จัดทำและเผยแพร่ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในระดับพื้นที่และเครือข่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้ตอนบน (ศวภ.ใต้บน) ได้ดำเนินงานตามพันธะกิจร่วมกับศูนย์จัดการเครือข่าย จำนวน ๕ ศูนย์ ดังนี้
1) ศูนย์จัดการเครือข่ายเทศบาลตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช รับผิดชอบเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 40
2) ศูนย์จัดการเครือข่ายเทศบาลตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับผิดชอบเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 20 อปท.
3) ศูนย์จัดการเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่รับผิดชอบเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 20 อปท.
4) ศูนย์จัดการเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา รับผิดชอบเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 20 อปท.
5) ศูนย์จัดการเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รับผิดชอบเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 20 อปท.
จากแผนการดำเนินงานและบทบาทหน้าที่ดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้ตอนบน (ศวภ.ใต้บน) มุ่งหวังเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ในการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายรูปแบบ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการจัดการตนเอง และชุมชนท้องถิ่นตามทุนทางสังคม ศักยภาพ และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้นำในเครือข่ายให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความสามารถในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย และระดับชาติ ที่เกื้อกูลให้ชุมชนท้องถิ่นให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ต่อไป