ชื่อโครงการ :

          โครงการศึกษา ส่งเสริม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพชุมชนพื้นที่ตำบลขุนทะเล และพื้นที่ตำบลมะขามเตี้ย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข้อมูลผู้เขียนหลัก:

          อาจารย์คณิต หนูพลอย สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เบอร์โทร 088-7525616


1. กรอบแนวคิด

          ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีพันธกิจหลักอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านบริการวิชาการ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน เป็นสาขาหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งการดำเนินงานของสาขาก็จักต้องมีความสอดคล้องกับตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งการดำเนินการในปีที่ผ่านมา สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ก็ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมบริการภายใต้โครงการ ศึกษา ส่งเสริม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพชุมชน โดยมีระยะเวลาในการในระหว่าง วันที่ 1 เมษายน 2556 - 22 พฤษภาคม 2556 ในพื้นที่ตำบลขุนทะเล จำนวน 10 หมู่บ้าน และตำบลมะขามเตี้ย จำนวน 4 หมู่บ้าน

2. วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาข้อมูลสถานะทางด้านสุขภาพของประชาชนในตำบลขุนทะเลและตำบลมะขามเตี้ย
  2. เพื่อส่งเสริมพฤติกรรรมการดูแลตนเองของประชาชนในตำบลขุนทะเลและตำบลมะขามเตี้ย
  3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในตำบลขุนทะเลและตำบลมะขามเตี้ย
  4. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทางด้านสุขภาพและองค์กรต่างๆ ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

3. กระบวนการในการดำเนินงาน

          กิจกรรมในการดำเนินงานของกิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมบริการของสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน โดยใช้กระบวนการในการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนร่วมกับนักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทางสาธารณสุข และภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการเรียนเรียนรู้ร่วมกันแบบ Problem based learning และ Learning by Doing โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังกล่าวหลักๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การศึกษาบริบทของชุมชนทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (การสร้างการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา)
              กระบวนการในขั้นตอนที่ 1 นี้ ประชาชนในชุมชนตำบลขุนทะเล และตำบลมะขามเตี้ย
    จะเป็นผู้สะท้อนข้อมูลสถานะทางด้านสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งความต้องการที่สามารถผลักดันหรือช่วยสนับสนุน/ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนักศึกษาและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นตัวกลางหรือเป็นผู้สรุปและประมวลผล รวมทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะคอยร่วมสนับสนุนข้อมูลด้านสารสนเทศต่างๆ ที่เป็นข้อมูลเฉพาะรายพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด,สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ,โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล) เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้เห็นถึงทิศทางหรือประเด็นหลักๆ ที่จะสามารถมุ่งเป้าอย่างถูกทางและตรงจุดกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และทางสาขาวิชาสามารถตกผลึกแผนภาพที่ใช้เป็นโมเดลในการทำงานบริการวิชาการให้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตามภาพด้านล่างนี้
  2. การนำเสนอผลการศึกษาบริบทชุมชน/การจัดทำเวทีประชาคม (การสร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันในการตัดสินใจ)
              จากการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 1 ข้างต้น นักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน จะเป็นผู้นำเสนอหรือเป็นเป็นผู้สะท้อนข้อมูลดังกล่าว กลับมายังเวทีชาวบ้านในรูปแบบการจัดทำเวทีประชาคม ทั้งนี้นักศึกษาจะเป็นเพียงผู้ดำเนินการ/หรือผู้ประสาน ทั้งนี้กระบวนการหลักหรือตัวหลักในการขับเคลื่อนแนวทางในการร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ณ ชุมชนนั้น เพราะการแก้ปัญหาในชุมชนนั้น ปัญหาเกิดขึ้น
    ณ จุดใด เกิดขึ้นเพราะอะไร บุคคลที่เหมาะสมที่สุดหรืออาจกล่าวว่าแก้ไขได้ถูกจุดที่สุด นั้นก็คือ ประชาชนทุกคนในชุมชนต้องเป็นผู้แก้ไข โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการช่วยกันในการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปัญหาที่มีความสำคัญอันดับแรก หรือปัญหาที่มีความเร่งด่วนอย่างยิ่งยวด พร้อมทั้งร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการโยงโยสาเหตุของปัญหา (Web of causation) เพื่อร่วมกันในการออกแบบ หาทางแก้ปัญหาและร่วมกันตกผลึกกิจกรรมการแก้ปัญหาในรูปแบบกิจกรรมโครงการต่อไป
  3. การจัดกิจกรรมโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุข (การสร้างการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกันต่อส่วนรวม)
              จากการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 2 ข้างต้น หลังจากที่ประชาชนได้ร่วมตัดสินใจร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และร่วมกันในการกำหนดทิศทาง รูปแบบในการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนของชุมชน อันจะทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและเกิดความตระหนักร่วมกันในการเห็นภาพของชุมชนเป็นองค์รวม และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพให้ไปทิศทางที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในชุมชนต่อไป

4. ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา

          กิจกรรมการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจกรรมโครงการในรูปแบบการบูรณาการชุมชนร่วมกับ นักศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานทางสาธารณสุข ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ร่วมกันในทุกภาคส่วน ให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีขอบเขต และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และไม่มีบุคคลผู้ใดเป็นเจ้าขององค์ความรู้อย่างแท้จริง เพราะองค์ความรู้ในยุคปัจจุบันสามารถเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ทุกคนต้องเข้าใจในหลักเหตุและผล รวมทั้งเข้าใจถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงหรือเข้าหาองค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง

5. ความเกี่ยวข้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน การวิจัย หรือการบริการ

        กิจกรรมการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นกิจกรรมบริการวิชาการของสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ที่เป็นโครงการต่อเนื่องทุกปี โดยได้บูรณาการกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน ใน 3 มิติ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้ยนภูเขา มาเป็นต้นแบบ ตามแผนภาพด้านล่าง

6.ประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

        จากการดำเนินงานกิจกรรมดังกล่าว การจัดกิจกรรมบริการวิชาการทางสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ได้มุ่งเป้าไปยังประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลขุนทะเลและตำบลมะขามเตี้ย ซึ่งถ้าประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วนั้น ประโยชน์ก็จะส่งผลมาถึงทุกภาคส่วนอย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ และประเทศชาติต่อไป

7.ความต่อเนื่องของงานหลังจากการสิ้นสุดโครงการ

        กิจกรรมโครงการดังกล่าว เป็นโครงการบริการวิชาการของสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชนได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้เกิดความยั่งยืนต่อประชาชน อันจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสิ่งที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากการสิ้นสุดโครงการ ก็คือ สัมพันธภาพอันดีต่อกันระหว่างชุมชน นักศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัย

8. ผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้

        การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีผลกระทบต่อสังคมในด้านของการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากการที่สาขาสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการร่วมกันออกแบบกิจกรรมในการพัฒนาสุขภาพชุมชน


9. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

    หากมีสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์คณิต หนูพลอย สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เบอร์โทร 088-7525616